วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
สามตอนที่แล้วได้นำสมาชิกเขตร้อนได้รับทราบถึงการศึกษาในระดับภูมิภาคอาเซียนกันแล้ว ตอนที่ 14 นี้จึงนำท่านกลับเข้ามาสู่เรื่องที่ใกล้ตัว ก็คือ การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาของไทยในระดับชาติกันนะคะ


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยบรรยายพิเศษเรื่อง "การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ. ๒๕๕๘" ไว้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในการก่อตั้งสมาคมอาเซียน มีศักยภาพในการเป็นแกนนำในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง ภายใต้ยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์เดียว เอกลักษณ์เดียว และประชาคมเดียว เพื่อความเจริญมั่นคงของประชากร ทรัพยากร และเศรษฐกิจ

         ภายใต้การก่อตั้งนี้จะต้องยึดหลักสำคัญ คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน   ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน การศึกษานั้นจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่นๆ มีความเข้มแข็ง   เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน

การเตรียมความพร้อมของการศึกษาไทย มีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

๑.
การสร้างประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ให้ประเทศไทยเป็น Education Hub มีการเตรียมความพร้อมในด้านกรอบความคิด คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ ที่จะมุ่งสร้างความตระหนักรู้ของคนไทยในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนไทยให้ เป็นคนของประชาคมอาเซียน พัฒนาสมรรถนะให้พร้อมจะอยู่ร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้าน การศึกษา โดยให้มีการร่วมมือกันใน ๓ ด้านคือ ด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการและจัดการศึกษา

๒.
ขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ หลักสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในประชาคมอาเซียน มีการเพิ่มครูที่จบการศึกษาด้านภาษาอังกฤษเข้าไปในทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้นักเรียนไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับอาสาสมัครเข้ามาสอนภาษาต่างประเทศ รวมถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจกันของประเทศในประชาคม

ส่วน
ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น จะพัฒนาตามหลัก 3N ได้แก่ NedNet (National Education Network)โครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ NEIS (National Education Information System) ศูนย์กลางรวบรวม จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา  NLC (National Learning Center) ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา มีการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความเอื้ออาทร โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ นักศึกษาที่จบจากอาชีวศึกษาจะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงานร่วมกันในประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาเซียนศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียนและสากลต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปฏิบัติด้านการศึกษาของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 ที่จะถึงนี้         โดยกำหนดกรอบอาเซียนแนวทางการศึกษาไทยดังนี้

1.
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)    ดำเนินงานภายใต้กรอบรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน กรอบประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียน และการจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา

2.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโครงการ Education Hub School และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Spirit of ASEAN (Sister/Partner  School และ Buffer School) สำหรับกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2554 คือการพัฒนาหลักสูตรและสื่อเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน

3.
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการอุดมศึกษา และการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษาอาเซียน

4.
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรนานาชาติ จัดการเรียนการสอนบริการสังคมร่วมกับนักศึกษาสิงคโปร์ โครงการแลกเปลี่ยนกับ Institute Of Technical Education Collage East, Singapore  โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคลาว แลกเปลี่ยนนักศึกษาทวิภาคี ระดับ ปวส.กับบรูไนฯ  โรงเรียนพระราชทานฯ วิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกัมพูชา ร่วมมือกับ SEAMEO SEAMOLEC ประเทศอินโดนีเซีย จัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

5.
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดโครงการสัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย บรรยายทางวิชาการเรื่องความตะหนักเรื่องการก้าวสู่อาเซียน บรรยายเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนและคนด้อยโอกาสให้กับผู้แทนมาเลเซีย โครงการพัฒนานโยบายการศึกษาสู่อาเซียน : กรณีศึกษาไทย-ลาว-เวียดนาม โครงการความร่วมมือไทย-ลาว โครงการความร่วมมือไทย-เวียดนาม

6.
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้ประเทศเพื่อนบ้าน อบรมเทคนิคการจัดนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูล ส่งเสริมความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพชุมชนในศูนย์วิทยาศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน
7. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)    เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอาเซียนแก่บุคลากร ใน สช.และโรงเรียนเอกชน สนับสนุนโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬาประถมศึกษาอาเซียนครั้งที่ 3 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยมศึกษาปี 2552 กับสิงคโปร์ ร่วมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการการศึกษาไทยที่ประเทศเวียดนาม

8.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา   คุรุสภาได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียน โดยร่วมกับองค์กรครูในกลุ่มประเทศอาเซียน 5ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 23 องค์กรจาก 9 ประเทศ

9.
เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-ASEAN University Network)   ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายในอาเซียน มีการพัฒนาหลักสูตร และ การประเมินหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ  เช่น เคมี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา เพื่อกำหนดเป็นนโยบายดังนี้
1.
การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน     เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558

2.
การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน  ให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน

3. 
การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ ในอาเซียน รวมทั้งให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ และการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมทางอาชีพทั้งในขั้นต้นและขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน

4.
การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษาในอาเซียน  เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน

5. 
การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
  รมต.ศธ. ได้มอบหมายให้องค์กรหลักเตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยให้พิจารณาถึงระบบการศึกษาในอาเซียน และนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงในอาเซียนต่อไป




ที่มา      http://www.chinnaworn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539155790&Ntype=1
                http://blog.eduzones.com/racchachoengsao/88655

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น