วันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557

การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
สามตอนที่แล้วได้นำสมาชิกเขตร้อนได้รับทราบถึงการศึกษาในระดับภูมิภาคอาเซียนกันแล้ว ตอนที่ 14 นี้จึงนำท่านกลับเข้ามาสู่เรื่องที่ใกล้ตัว ก็คือ การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาของไทยในระดับชาติกันนะคะ


นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เคยบรรยายพิเศษเรื่อง "การเตรียมพร้อมด้านการศึกษาของไทย เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ปี พ.ศ. ๒๕๕๘" ไว้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในการก่อตั้งสมาคมอาเซียน มีศักยภาพในการเป็นแกนนำในการสร้างประชาคมอาเซียนให้เข้มแข็ง ภายใต้ยุทธศาสตร์วิสัยทัศน์เดียว เอกลักษณ์เดียว และประชาคมเดียว เพื่อความเจริญมั่นคงของประชากร ทรัพยากร และเศรษฐกิจ

         ภายใต้การก่อตั้งนี้จะต้องยึดหลักสำคัญ คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงของอาเซียน   ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน การศึกษานั้นจัดอยู่ในประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาคมด้านอื่นๆ มีความเข้มแข็ง   เนื่องจากการศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาในทุกๆ ด้าน

การเตรียมความพร้อมของการศึกษาไทย มีจุดมุ่งหมาย ดังนี้

๑.
การสร้างประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ให้ประเทศไทยเป็น Education Hub มีการเตรียมความพร้อมในด้านกรอบความคิด คือ แผนการศึกษาแห่งชาติ ที่จะมุ่งสร้างความตระหนักรู้ของคนไทยในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างคนไทยให้ เป็นคนของประชาคมอาเซียน พัฒนาสมรรถนะให้พร้อมจะอยู่ร่วมกันและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้าน การศึกษา โดยให้มีการร่วมมือกันใน ๓ ด้านคือ ด้านพัฒนาคุณภาพการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการและจัดการศึกษา

๒.
ขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนด้วยการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ หลักสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาการติดต่อสื่อสารระหว่างกันในประชาคมอาเซียน มีการเพิ่มครูที่จบการศึกษาด้านภาษาอังกฤษเข้าไปในทุกระดับชั้นการศึกษา เพื่อให้นักเรียนไทยสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับภาคเอกชนในการรับอาสาสมัครเข้ามาสอนภาษาต่างประเทศ รวมถึงวัฒนธรรมของประเทศต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจกันของประเทศในประชาคม

ส่วน
ด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษานั้น จะพัฒนาตามหลัก 3N ได้แก่ NedNet (National Education Network)โครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ NEIS (National Education Information System) ศูนย์กลางรวบรวม จัดเก็บ และเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา  NLC (National Learning Center) ศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดเวลา มีการพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองอาเซียน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ความเอื้ออาทร โดยใช้การศึกษาเป็นกลไกในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ นักศึกษาที่จบจากอาชีวศึกษาจะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีทักษะการทำงานร่วมกันในประชาคมอาเซียน

นอกจากนี้ ยังต้องส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาเซียนศึกษา เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาไปสู่ประชาคมอาเซียนและสากลต่อไป

กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกรอบและแนวทางในการปฏิบัติด้านการศึกษาของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน ปี 2558 ที่จะถึงนี้         โดยกำหนดกรอบอาเซียนแนวทางการศึกษาไทยดังนี้

1.
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)    ดำเนินงานภายใต้กรอบรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน กรอบประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เสริมสร้างความตระหนักเกี่ยวกับอาเซียน และการจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา

2.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโครงการ Education Hub School และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ Spirit of ASEAN (Sister/Partner  School และ Buffer School) สำหรับกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้วในปี 2554 คือการพัฒนาหลักสูตรและสื่อเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน

3.
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการอุดมศึกษา และการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษาอาเซียน

4.
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)  โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรนานาชาติ จัดการเรียนการสอนบริการสังคมร่วมกับนักศึกษาสิงคโปร์ โครงการแลกเปลี่ยนกับ Institute Of Technical Education Collage East, Singapore  โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคลาว แลกเปลี่ยนนักศึกษาทวิภาคี ระดับ ปวส.กับบรูไนฯ  โรงเรียนพระราชทานฯ วิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกัมพูชา ร่วมมือกับ SEAMEO SEAMOLEC ประเทศอินโดนีเซีย จัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

5.
สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดโครงการสัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย บรรยายทางวิชาการเรื่องความตะหนักเรื่องการก้าวสู่อาเซียน บรรยายเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนและคนด้อยโอกาสให้กับผู้แทนมาเลเซีย โครงการพัฒนานโยบายการศึกษาสู่อาเซียน : กรณีศึกษาไทย-ลาว-เวียดนาม โครงการความร่วมมือไทย-ลาว โครงการความร่วมมือไทย-เวียดนาม

6.
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) จัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้ประเทศเพื่อนบ้าน อบรมเทคนิคการจัดนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูล ส่งเสริมความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพชุมชนในศูนย์วิทยาศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน
7. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)    เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอาเซียนแก่บุคลากร ใน สช.และโรงเรียนเอกชน สนับสนุนโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬาประถมศึกษาอาเซียนครั้งที่ 3 ที่ประเทศอินโดนีเซีย โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยมศึกษาปี 2552 กับสิงคโปร์ ร่วมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการการศึกษาไทยที่ประเทศเวียดนาม

8.
สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา   คุรุสภาได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียน โดยร่วมกับองค์กรครูในกลุ่มประเทศอาเซียน 5ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก 23 องค์กรจาก 9 ประเทศ

9.
เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN-ASEAN University Network)   ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายในอาเซียน มีการพัฒนาหลักสูตร และ การประเมินหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ  เช่น เคมี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษา เพื่อกำหนดเป็นนโยบายดังนี้
1.
การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน     เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี 2558

2.
การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน  ให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม และการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน

3. 
การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ ในอาเซียน รวมทั้งให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆ และการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมทางอาชีพทั้งในขั้นต้นและขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน

4.
การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษาในอาเซียน  เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน

5. 
การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
  รมต.ศธ. ได้มอบหมายให้องค์กรหลักเตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยให้พิจารณาถึงระบบการศึกษาในอาเซียน และนโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงในอาเซียนต่อไป




ที่มา      http://www.chinnaworn.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539155790&Ntype=1
                http://blog.eduzones.com/racchachoengsao/88655

ภาคต่ออาเซียน

ประชาคมอาเซียน


          อาเซียน มีประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 45 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีทั้งยุครุ่งเรื่อง ยุคทอง ยุคตกต่ำ (ยุควิกฤตเศรษฐกิจ) เราก็ผ่านมาหมดแล้ว ยุควิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1997 อาเซียนก็ตกต่ำมาก ดังนั้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ อาเซียนจึงหันกลับมามองว่า เราต้องกลับมาเดินหน้ากันต่อ จึงเป็นที่มาที่ได้มีการผลักดันให้มีการบูรณาการกันมากขึ้น ในปี 2002 สิงคโปร์ได้เสนอเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น และในปี 2003 มีการต่อยอดออกไป ในการประชุมสุดยอดที่บาหลี อินโดนีเซีย ก็ได้ตกลงกันว่า จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ซึ่งในตอนแรกตกลงกันว่า ภายในปี 2020 แต่ต่อมาก็ร่นมาเป็นปี 2015

ประชาคมอาเซียนมี 3 ประชาคมย่อย
ประชาคมย่อยที่ 1 คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งจะให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง การพัฒนาทางการเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การสร้างกลไก ป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้ง หัวใจของประชาคมการเมืองและความมั่นคง คือ กลไกการแก้ไขความขัดแย้ง แต่เราอาจจะคิดอยู่ในใจว่า อาเซียนมีกลไกแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ดูจากกรณีไทย กัมพูชา จะเห็นได้ว่า อาเซียนยังไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ
ประชาคมย่อยที่ 2  คือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมเศรษฐกิจให้ความสำคัญในเรื่องการทำให้เป็นตลาดเดียว และฐานการผลิตเดียว การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า เปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการ เปิดเสรีการลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ จะเห็นได้ว่า การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่ใช้คำว่า free แต่ใช้คำว่า freerหมายความว่า ยังเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ไม่ 100% ส่วนที่สองที่เรายังเปิดเสรีไม่ได้ คือ เรื่องแรงงาน จึงจำกัดอยู่เฉพาะการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเท่านั้น แรงงานไร้ฝีมือยังเปิดไม่ได้
ส่วนประชาคมย่อยที่ 3 ของประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ในอดีต ไทยอาจจะต้องทำคนเดียวในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจจะต้องทำคนเดียวในเรื่องการให้สวัสดิการสังคม แต่ต่อไป ในเมื่อเราจะเป็นประชาคม 10 ประเทศจะต้องมาร่วมมือกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมมือในการให้สวัสดิการสังคม ร่วมมือกันในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันในการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน อัตลักษณ์ร่วมมีความสำคัญมาก เพราะถ้าจะเป็นประชาคมก็จะต้องมีอัตลักษณ์ร่วมกัน  ต้องมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ทำอย่างไร ประชากร 600 ล้านคน จะรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งจะต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หรืออาจจะต้องค้นหาอัตลักษณ์ร่วม ที่เราอาจจะมีอยู่แล้ว


     
            วิเคราะห์ว่า ประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น จะกระทบต่อไทยอย่างไร เราจะต้องรองรับ ปรับตัวอย่างไร  คือ ไทยจะต้องเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนอย่างไร
การปรับตัวของไทย เราจะต้องทำใน 2 มิติ มิติที่หนึ่ง คือ การตั้งรับหรือการปรับตัว คือ ประชาคมอาเซียนกำลังจะบุกเข้ามาแล้ว เราต้องตั้งรับ เราต้องปรับ เพื่อรับกับสิ่งที่จะบุกเข้ามา ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในเชิงตั้งรับ แต่ว่าเราตั้งรับเพียงอย่างเดียวไม่พอ ถ้าเราตั้งรับอย่างเดียว ยังไงเราก็แพ้ คือ เราต้องมียุทธศาสตร์อีกมิติหนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ในเชิงรุก คือ เราจะต้องรุกเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ไม่ใช่รอให้ 9 ประเทศตั้งประชาคมอาเซียน แล้วเราค่อยมาตั้งรับ
ยุทธศาสตร์ในเชิงตั้งรับ
ในส่วนแรก คือ ยุทธศาสตร์ในเชิงตั้งรับ  เราจะมีบทบาทในเชิงตั้งรับอย่างไร
สำหรับผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย นั้น เมื่อรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนแล้ว จะมีความร่วมมือในทุก ๆ  ด้าน การติดต่อระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งระหว่างรัฐกับรัฐ ระหว่างหน่วยงานราชการกับหน่วยงานราชการ ทั้ง 10 ประเทศ จะเพิ่มมากขึ้น เอกชนจะติดต่อกันมากขึ้นด้วยการเปิดเสรีในด้านต่าง ๆ ประชาชนจะมีการติดต่อกันมากขึ้น
จากการที่จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและมีการเปิดเสรีที่มากขึ้น เพราะฉะนั้น จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะต้องมีความรู้เพิ่มเติม มีพื้นฐานการศึกษา ความรู้ มีความเข้าใจ มีทักษะ สำหรับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
การเตรียมความพร้อมของไทย ไม่ใช่เตรียมแต่คน แต่เราต้องเตรียมพร้อมทั้งในเรื่องของคนและ เตรียมความพร้อมในเรื่องของยุทธศาสตร์ เตรียมพร้อมในเรื่องของนโยบาย  เตรียมพร้อมในเรื่องของระบบการขนส่ง (logistics) ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ระบบการเมือง ระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อม
ส่วนในเรื่องของคน ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญ เราต้องมีการเตรียมความพร้อม มีการเติมทักษะให้เพิ่มขึ้น เปลี่ยนทัศนคติเพื่อให้พร้อมรับกับประชาคมอาเซียน ทักษะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การที่เราจะต้องรู้เรื่องประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ต้องรู้ภาษาประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
ในแง่ของทัศนคติ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราอยู่ในบรรยากาศที่มองประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นศัตรูมานาน ถ้าเรายังมองเพื่อนบ้านเป็นศัตรู ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นยาก ถ้าต่างคนต่างมองเพื่อนบ้านว่าเป็นศัตรู ถึงแม้ว่าประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นในปี 2015 แต่ก็จะเป็นเพียงประชาคมปลอม ๆ ดังนั้น เราจะต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ นอกจากนี้จะต้องมีการปรับในเรื่องของภาษาอังกฤษ ต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ เรื่องคน เรื่องยุทธศาสตร์ รวมทั้งเรื่องระบบต่าง ๆ ในทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาชนด้วย เราต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน และปรับตัว เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น
ในเรื่องของการประสานงานกับทุกภาคส่วน ในระบบราชการ มีปัญหาในเรื่องการประสานงานกัน ภาคเอกชนกับภาครัฐก็มีปัญหาในเรื่องการประสานงานกัน ประชาชนกับภาครัฐก็มีปัญหาในเรื่องการประสานงานกันเช่นเดียวกัน ถ้าเราจะเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ทุกภาคส่วนจะต้องมีการประสานงานกัน และจะต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องอาเซียนมากขึ้น คนที่รู้เรื่องอาเซียนต้องมากขึ้น
ในส่วนของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน นั้น จะให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง เพราะฉะนั้น ไทยจะต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนของอาเซียนมากขึ้น และพร้อมที่จะมีบทบาทในเรื่องของกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง
ในส่วนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นั้น ผลกระทบจะมีทั้งบวกและลบ ในเรื่องของการเปิดเสรี จะต้องมีฝ่ายได้ ฝ่ายเสีย แต่ผมคิดว่าโดยรวมแล้ว เราน่าจะได้มากกว่าเสีย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุน ผมคิดว่า เราอาจจะสู้สิงคโปร์และมาเลเซียไม่ได้ ในบางเรื่อง แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่เราสู้ได้ โดยเฉพาะน่าจะมีโอกาสอีกมากสำหรับไทยในการส่งออกและการลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน เช่นเดียวกับการเปิดเสรีทางด้านแรงงาน ที่จะมีหลายอาชีพที่จะได้รับประโยชน์

ยุทธศาสตร์ในเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เราจะเตรียมในลักษณะตั้งรับอย่างเดียวไม่ได้ เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกด้วยยุทธศาสตร์ในเชิงรุกของไทย หัวใจสำคัญ คือ เราจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งประชาคมอาเซียนไทยมีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของอาเซียนมาตั้งแต่แรก เมื่อย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของอาเซียนเมื่อ 45ปีที่แล้ว อาเซียนเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ไทยเป็นผู้คิดเรื่องอาเซียนขึ้นมา ในอดีตที่ผ่านมา ไทยมีบทบาทสำคัญ มีบทบาทนำ ผลักดันอะไรต่ออะไรหลายเรื่อง นับตั้งแต่การก่อตั้ง การจัดการประชุมสุดยอดครั้งแรก เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ไทยก็เป็นผู้เสนอในปี 1992 การนำเอา 10 ประเทศมารวมกันเป็นอาเซียน โดยในตอนแรกนั้นอาเซียนมีสมาชิกเพียง 5 ประเทศ ไทยก็เป็นผู้เสนอว่า เราควรมี 10 ไม่ใช่แค่ 5 เพราะฉะนั้น ในอดีต เรามีบทบาทมาตลอด แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ที่หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 บทบาทของไทยในอาเซียนก็ตกต่ำลง สถานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศก็ตกต่ำลง
ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1997 ถึงปัจจุบัน ไทยก็ตกต่ำลงในทุก ๆ ด้าน จะเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับอะไรก็ตาม อันดับของไทยตกลงหมด ไม่ว่าจะเป็น GDP ,GDP ต่อหัว ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิต ( Human Development Index: HDI) ของไทยก็ตกลง เมื่อ 20 ปีมาแล้ว อันดับ HDI ของไทยอยู่ที่ประมาณอันดับที่ 50 ของโลก แต่อันดับของไทยก็ตกลงเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันเราอยู่อันดับเกือบ 100 เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า ไทยตกต่ำลง และได้ส่งผลกระทบต่อบทบาทของไทยในอาเซียนด้วย เราเคยมีบทบาทนำ เราเคยมีบทบาทในเชิงรุก แต่ในช่วงหลังๆ ไทยแทบไม่มีบทบาทนำในอาเซียน ข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็เป็นข้อเสนอของสิงคโปร์ที่เสนอในปี 2002 เรื่องการจัดตั้งประชาคมอาเซียนก็เป็นแนวคิดของอินโดนีเซีย ที่บาหลี ในปี 2003
เพราะฉะนั้น บทบาทในเชิงรุกที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรให้ไทยกลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง เราจะต้องผลักดันประเด็นต่าง ๆ และมีเรื่องอะไรที่เราควรจะต้องผลักดัน ในเรื่องของประชาคมอาเซียน วิธีหนึ่งในการที่เราจะดูว่า เรามีเรื่องอะไรที่จะต้องผลักดัน คือ ไปดูว่า เรามีปัญหาอะไรบ้าง พูดง่าย ๆ คือ การจัดตั้งประชาคมอาเซียนนั้น วิถีทางหรือเส้นทางไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่เต็มไปด้วยขวากหนาม มีอุปสรรคมากในการที่เราจะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมที่สมบูรณ์แบบ อุปสรรคเหล่านั้นคืออะไร ไทยควรจะไปผลักดัน ไปแก้อุปสรรคเหล่านี้ เพื่อที่จะทำให้เกิดประชาคมที่สมบูรณ์ให้ได้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทย
เรื่องแรก คือ  เรื่องประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เราฝันว่า ในปี 2015 เราจะมีกลไกแก้ไขความขัดแย้ง เราจะมีประชาธิปไตย เราจะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่ถามว่า จริง ๆ แล้ว อาเซียนจะเป็นเช่นนั้นได้หรือ
อุปสรรคสำคัญ คือ ความขัดแย้งทางการเมือง อุปสรรคของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คือ กรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่ก็ทะเลาะกัน ตีกันด้วยเรื่องพรมแดน ถ้าเราจะเป็นประชาคมในอนาคต ปัญหาเรื่องพรมแดนควรจะต้องหมดไป คือ เราจะมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกันแล้ว แล้วเราจะตั้งกำแพงกั้นอะไรกันไปทำไม แต่กลายเป็นว่า เรื่องพรมแดนกลายเป็นเรื่องใหญ่ระหว่างไทยกับกัมพูชา  ยอมกันไม่ได้ แม้แต่จะเสียแม้ตารางนิ้วเดียว
ทีนี้ ถามว่า เกิดอะไรขึ้นระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ไว้ใจพม่า เราไม่ไว้ใจเขมร เราไม่ไว้ใจเวียดนาม เราไม่ไว้ใจมาเลเซีย คือ สมาชิกอาเซียนยังไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงกัน ซึ่งเป็นตัวบ่อนทำลายประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก ตราบใดที่ยังไม่มีความไว้วางใจกันและเรายังมองประเทศเพื่อนบ้านว่าเป็นศัตรู แล้วเราจะเป็นประชาคมได้อย่างไร
ตัวอย่างสำคัญที่เราขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน คือ เราขาดความร่วมมือทางทหาร ซึ่งเป็นความร่วมมือที่อ่อนที่สุด เบาบางที่สุด เมื่อเทียบกับความร่วมมือในด้านอื่นๆของอาเซียน ความร่วมมือทางทหารนั้น มีความละเอียดอ่อนมากที่สุด ซึ่งหมายถึงว่า ถ้าเราร่วมมือทางทหาร คือ เราไว้ใจกัน แต่ถ้าเรายังคงคิดว่า เราจะสร้างกองทัพ เสริมสร้างกำลังทหาร เพื่อเตรียมพร้อมจะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็หมายความว่า เราไม่ไว้ใจประเทศเพื่อนบ้าน และในขณะนี้ ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ความรู้สึกนี้ยังไม่ได้หมดไปในบุคลากรด้านความมั่นคงหรือด้านการป้องกันประเทศ ยุทธศาสตร์ทหารยังคงตั้งอยู่บนพื้นฐาน ที่เราเตรียมพร้อมจะรบกับประเทศเพื่อนบ้าน การซ้อมรบก็สมมุติว่า เรารบกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น เรายังมองเพื่อนบ้านเป็นศัตรู
ถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะนี่คืออุปสรรคใหญ่ของการที่จะนำไปสู่การเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนที่สมบูรณ์แบบ เพราะฉะนั้น เราต้องแก้ไขความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาให้ได้ จะทำอย่างไรให้เราเลิกหวาดระแวงกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่  เรื่องยาว เป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์ ที่ฝังรากลึกมานาน เรื่องของการสั่งสอนในเรื่องประวัติศาสตร์ ที่สอนให้เราเกลียดกัน คนไทยก็เกลียดพม่า เพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่า พม่า คือ ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย มาบุก มาเผากรุงศรีอยุธยา สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเกิด จะยังไม่สมบูรณ์
ประเด็นทางด้านการเมืองความมั่นคงนั้น มีโจทย์ใหญ่หลายโจทย์ ที่จะต้องแก้กันในอนาคต อีกโจทย์ที่โยงกัน คือ ในปี 2015 หัวใจของประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คือ จะต้องมีกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ถามว่า ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา อาเซียนเข้ามาช่วยอะไรได้บ้าง เรารู้ว่าอินโดนีเซียพยายามเข้ามามีบทบาท แต่ถามว่า อินโดนีเซียทำอะไรได้หรือไม่ อินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์ ก็เข้ามาไม่ได้ ไทยก็ไม่อยากให้อาเซียนเข้ามายุ่ง เพราะอาเซียนจึงไม่มีประสิทธิภาพในการที่จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก นี่ถือเป็นบททดสอบบทแรก คือ ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งอาเซียนก็ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหานี้ เพราะฉะนั้น ยังอีกยาวไกลกว่าที่อาเซียนจะสามารถมีกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพได้
เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องประชาคมเศรษฐกิจ มีหลายเรื่องที่เป็นอุปสรรค
ปัญหาประการแรก คือ ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจนห่างกันมาก สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่รวยที่สุดในเอเชียไปแล้ว แต่พม่า ลาว กัมพูชา ยังจนเกือบจะที่สุดในเอเชีย ในเมื่อประเทศรวยกับประเทศจน ต่างกันเช่นนี้ แล้วเราจะบูรณาการทางเศรษฐกิจกันอย่างไร ในเมื่อสิงคโปร์พร้อมทุกอย่าง แต่พม่าไม่พร้อมสักอย่าง ในเรื่องของการเปิดเสรีทางการเงิน การเปิดเสรีการค้าภาคบริการก็ไม่พร้อม อย่างนี้เป็นต้น ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ นอกจากนี้ ช่องว่างระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน ยังทำให้เราไม่สามารถเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ฝีมือได้ เพราะเรารู้ดีว่า ถ้าเราเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ คนในประเทศยากจนจะทะลักเข้าสู่ประเทศรวยอย่างแน่นอน
นอกจากนั้น ประเทศในอาเซียนก็ยังมองประเทศสมาชิกอื่น เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ มากกว่าที่จะเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
สำหรับปัญหาบูรณาการในเชิงลึก ตามทฤษฎี ขั้นตอนของบูรณาการทางเศรษฐกิจ คือ เป็น FTA สหภาพศุลกากร ตลาดร่วม และสหภาพเศรษฐกิจ ในกรณีตลาดร่วม ก็ต้องมีเสรี 4 ตัว คือ เสรีทางการค้า การบริการ เงินทุน และแรงงาน แต่ตลาดร่วมของอาเซียน มีเสรีได้แค่ 2 ตัว คือ ด้านการค้ากับด้านบริการ ส่วนเงินทุนกับแรงงาน ยังไม่เปิดเสรี แล้วเราจะเป็นตลาดร่วมที่สมบูรณ์ได้อย่างไร นี่คือปัญหาบูรณาการในเชิงลึก
ส่วนปัญหาบูรณาการในเชิงกว้าง คือ การที่จะทำให้อาเซียนใหญ่ขึ้น มีสมาชิกมากขึ้น มีอำนาจการต่อรองมากขึ้น ถามว่า ตอนนี้เรามี 10 ประเทศ แล้วเราจะขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เมื่อเทียบ กับ EU  ตอนแรก EU มีสมาชิก 15 ประเทศ แต่ต่อมาเพิ่มเป็น 27 ประเทศ และยังมีอีกหลายประเทศ เข้าแถวรอ เพื่อจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ EU ถามว่า มีกี่ประเทศที่เข้าคิวรอเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียน คำตอบคือ มี 1 ประเทศ คือ ติมอร์ เพราะฉะนั้น อาเซียนกำลังถึงทางตันในบูรณาการในเชิงกว้าง เพราะมีอยู่แค่นี้ ขยายไม่ได้แล้ว ทางออก คือ เราอาจจะต้องคิดนอกกรอบ ในที่สุด เราอาจจะต้องเป็นอาเซียน + คือ อาเซียน+3 อาเซียน+6 โดยเอาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เข้ามาเป็นพวกเรา แล้วพัฒนาจากประชาคมอาเซียนไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก
ส่วนปัญหาในด้านโครงสร้าง นั้น  คือ อาเซียนยังเป็นองค์กรของชนชั้นนำ  ประชาชนยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ประชาชนยังไม่ได้เป็นศูนย์กลาง
นอกจากนั้น อาเซียนต้องการจะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เป็นศูนย์กลาง เป็นสถาบันหลักในภูมิภาค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีคู่แข่ง คือ มี APEC เป็นคู่แข่ง สหรัฐฯ ซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ก็ไม่อยากให้อาเซียนเป็นแกนกลาง เป็นสถาบันหลัก อเมริกาต้องการจะครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สหรัฐฯ กำลังจะเข้ามาแข่งกับอาเซียน และกำลังจะผลักดัน FTA ตัวใหม่ชื่อว่า Trans – Pacific Partnership หรือ TPP มาแข่งกับ FTA ของอาเซียน โดยใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง คือ ดึงเอาประเทศอาเซียนบางประเทศไปร่วม TPP ซึ่งขณะนี้ก็มีมาเลเซีย บรูไน เวียดนาม และสิงคโปร์ เข้าไปร่วมแล้ว
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาของอาเซียน คือ เราไม่มีท่าทีร่วมในเวทีโลก เป็นเรื่องแปลกแต่จริง อาเซียนไม่มีท่าทีร่วมใน WTO ในการเจรจา WTO รอบโดฮา ไม่มีท่าทีอาเซียน ไทยไปทาง ฟิลิปปินส์ไปทาง สิงคโปร์ไปทาง อินโดนีเซียไปทาง นี่คือข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น เราจะต้องผลักดันให้อาเซียนมีท่าทีเป็นหนึ่งเดียว เหมือนกับ EU
สุดท้ายในเรื่องประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ปัญหา คือ เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องระบอบการปกครองที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ความแตกต่างในเรื่องระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบวัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติ ก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่ออาเซียนในการพัฒนาอัตลักษณ์ร่วม ปัญหาสำคัญ คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง นี่คือโจทย์สำคัญของไทย ในปี 2009 ไทยเป็นประธานอาเซียน และสโลแกนของไทย คือ จะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ผมตอบได้เลยว่า ในขณะนี้อาเซียนยังไม่ได้เป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง